วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ดอกสารภี

ดอกสารภี
รักลารายล้อมสลับสี
ม่วงสนหมู่โศกสารภี
ลิ้นจี่ลำเจียกจิกจันทน์…"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Ochrocarpus siamensis, T. And.
ชื่อสามัญ : Negkassar
ชื่อวงศ์ : Guttiferae
สารภีเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ ๕ - ๑๐ เมตร มีอายุยืน ทรวดทรงของลำต้นตั้งตรง เรือนพุ่มใบดกหนา สีเขียวเข้ม ส่วนยอดเป็นพุ่มแหลม พบขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณและป่าดิบทั่วประเทศ เนื้อไม้สีน้ำตาลแกมแดง เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ และถี่ เนื้อละเอียด แข็ง ค่อนข้างทนทานใบหนาแข็ง มียางสีขาว ลักษณะเป็นรูปไข่ยาว ปลายใบมนแหลม โคนใบแหลม มีสีเขียวเข้มเป็นมัน พุ่มใบตก ไม่ผลัดใบ ผลกลมยาวคล้ายลูกมะกอก ผลสุกสีเหลืองอร่าม มีขนาดเล็กกว่าลูกปิงปอกเล็กน้อย เนื้อในนุ่ม รับประทานได้ เปลือกหนา เมล็ดในแข็ง การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง คุณค่าด้านสมุนไพร ใช้ดองปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย

ดอกพิกุล

ดอกพิกุล
ร่มหูกวางกวางเฝือฝูงกวางป่า
อ้อยช้างช้างน้าวเป็นราวมา
สาลิกาจับกิ่งพิกุลกิน…"
วรรณคดี : "ขุนช้างขุนแผน"
ผู้ประพันธ์ : สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Mimusope elengi, L.
ชื่อสามัญ : Bullet Wood
ชื่อวงศ์ : Sapotaceae
พิกุลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง กิ่งก้านค่อนข้างแจ้ แบน คล้ายต้นหว้า มีพุ่มใบแน่น เหมาะสำหรับปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย ดอกมีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม ปลายแหลมมน มีขนาดใบกว้างประมาณ ๗ ซ.ม. ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม. เส้นกลางใบด้านท้องใบนูน ก้านใบยาวประมาณ ๓ ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อ เป็นกระจุก ดอกมีขนาดเล็กกว้างประมาณ ๑ ซ.ม. กลีบดอกเล็กแคบยาวเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มองดูริมดอกเป็นจักเล็ก ผลกลมโตคล้ายละมุดสีดา แต่เล็กกว่าเล็กน้อย ผลสุกสีแดงแสด ใช้รับประทานได้ รสฝาดหวานมัน การขยายพันธ์ ใช้เพาะเมล็ด หรือ ตอนกิ่ง ทางด้านสมุนไพร เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปาก แก้ปากเปื่อย ปวดฟัน ฟันโยกคลอน เหงือกบวม เป็นยาคุมธาตุ ดอกแห้งใช้ป่นทำยานัตถุ์ แก้ไข้ ปวดศรีษะ เจ็บคอ แก้ปวดตามร่างกาย แก้ร้อนใน เมล็ดตำละเอียดปั้นเป็นยาเม็ดสวนทวาร

ดอกแค

ดอกเเค
เกล็ดแก้วกันตราไตรตร่าง
ตะเคียนแคข่อยขานาง
ขวิดขวาดปริงปรางประยงค์…"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Sesbania grandiflora, (L.) Poir.
ชื่อสามัญ : Sesban
ชื่อวงศ์ : Leguminosae
แคเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นเป็นพุ่ม ขึ้นได้ในดินทุกชนิดไม่ชอบน้ำขัง และปลูกได้ทุกฤดู เจริญเติบโตได้ดี โดยไม่ต้องการบำรุงรักษาแต่อย่างใดแต่ควรเอาใจใส่ระยะแรกปลูก ใบเป็นใบประกอบ แตกจากลำต้นเป็นแบบสลับ ประกอบด้วยใบย่อย ๑๐ - ๓๐ คู่ ใบย่อยแต่ละใบยาวไม่เท่ากัน มีขนาดยาวประมาณ ๓ - ๕ ซ.ม. กว้าง ๑๔ ม.ม. ตัวใบรูปขอบขนานเรียว ปลายใบมนหรือเว้ามีติ่งเล็กน้อย ผิวใบมีขนเล็กน้อย ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ๒ - ๓ ดอก มีทั้งชนิดสีขาว และสีแดง แต่ละดอกยาวประมาณ ๔ - ๘ ซ.ม. ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม ยาวประมาณ ๒๐ - ๕๐ ซ.ม. กว้าง ๔ - ๙ ม.ม. ภายในมีเมล็ด ๑๕ - ๕๐ เมล็ด การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดปลูก สรรพคุณทางสมุนไพร ใช้เปลือกปิ้งไฟต้มกับน้ำปูนใส หรือน้ำดื่มแก้อาการท้องเดิน ใช้เป็นยาห้ามเลือด ใบแก้ไข้เปลี่ยนฤดู

ดอกผักตบ

 ดอกผักตบ
บอนสุพรรณหั่นแกง อร่อยแท้
บอนบางกอกดอกแสลง เหลือแล่ แม่เอย
บอนปากยากจแก้ ไม่สริ้นลิ้นบอน ฯ …"
วรรณคดี : "โคลงนิราศสุพรรณ"
ผู้ประพันธ์ : สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Eichhornia crassipes, Solms.
ชื่อสามัญ : Water Hyacinth
ชื่อวงศ์ : Pontederiaceae
ชื่ออื่น ๆ : ผักบัวลอย ผักปอด ผักโป่ง สวะ ผักตบชวา
ผักตบเป็นพืชน้ำประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว ลอยน้ำได้ งอกงามได้โดยไม่ต้องมีที่ยึดเกาะ สามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก จัดเป็นวัชพืชน้ำที่สร้างความเสียหายให้กับการชลประทาน การประมง การเกษตร การสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ เป็นอย่างมากแต่อย่างไรก็ตามในแง่ของประโยชน์ ผักตบสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ ใช้นำมาถักเป็นเครื่องเรือน ใช้แก้ปัญหาน้ำเสีย ใช้เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟาง ใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบคล้ายรูปหัวใจ เป็นมันหนา ก้านใบพองออกตรงช่วงกลาง ภายในมีลักษณะเป็นรูพรุน เนื้อฟ่าม ช่วยพยุงลำต้นให้ลอยน้ำได้ ดอกมีลักษณะเป็นช่อ ดอกย่อยแต่ละดอกมีสีฟ้าอมม่วงแกมเหลือง ไม่มีก้านช่อดอก ดอกมีกลีบ ๖ กลีบ ตอนที่ดอกยังไม่บานจะมีใบธงหุ้มอยู่ เมื่อดอกออกพ้นใบธงดอกจะบานทันที การขยายพันธุ์ ใช้ "ไหล" ที่แตกมาจากลำต้นแม่ หรือเมล็ด ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ

ดอกดาวเรือง

ดอกดาวเรือง
กุหลาบกนาบทั้งสองทาง
เบงระมาดยี่สุ่นกาง
กลีบบานเพราเหล่าดาวเรือง ฯ
…" วรรณคดี : กาพย์ห่อโคลง " นิราศธารทองแดง"
ผู้ประพันธ์ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ "เจ้าฟ้ากุ้ง"
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Tagetes spp.
ชื่อสามัญ : Marigolds ชื่อวงศ์ : Compositae
ชื่ออื่น ๆ : คำปู้จู้
ดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นทรงพุ่มสูงประมาณ ๔ ฟุต ปลูกง่ายขึ้นในดินเกือบทุกชนิด ทนทานต่อความแห้งแล้ง ใบเป็นฝอย มีกลิ่นหอมฉุน ดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันมี ๕ ชนิด คือ ๑. Tagetes erecta เป็นดาวเรืองชนิดต้นสูง ดอกใหญ่ ซ้อน ทรงดอกกลมโต พันธุ์ที่นิยมกันคือ เทตรา เบอร์พี พริมโรส เลมอนบอล ๒. Tagetes patula ลำต้นเตี้ย มีทั้งดอกซ้อนและไม่ซ้อน พันธุ์ที่นิยม คือ นอติมาเรียตตา บัฟเฟิลด์เรด ๓. Triploid marigolds เป็นลูกผสมระหว่าง ๒ ชนิดแรก ได้แก่พันธุ์นักเกท ๔. Tagetes tenuifolia pumila เป็นดาวเรืองชนิดพุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๗ - ๑๐ นิ้ว ดอกกลีบชั้นเดียว มีขนาดเล็ก นิยมปลูกตามขอบแปลง หรือสวนหิน ๕. Tagets\es filifolia pumila เป็นดาวเรืองที่มีใบสวยงาม พุ่มต้นแน่นเหมาะสำหรับปลูกตามขอบแปลง การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ดแล้วย้ายปลูก สรรพคุณด้านสมุนไพร ใช้ดอกผสมกับข่าและสะค้าน รับประทานแก้ฝีลมที่มีอาการปวดในท้อง ต้นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุดเสียดและปวดท้อง

ดอกซ่อนกลิ่น

ดอกซ่อนกลิ่น
ตาดว่าตาดพัสตรา หนุ่มเหน้า
สลาสิงเล่ห์ ซรองสลา นุชเทียบ ถวายฤๅ
สวาดิดังเรียมสวาดิเจ้า จากแล้วหลงครวญ ฯ …"
วรรณคดี : "ลิลิตตะเลงพ่าย"
ผู้ประพันธ์ : สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Polisanthes tuberosa, L.
ชื่อสามัญ : Tuberose
ชื่อวงศ์ : Amaryllidaceae
ชื่ออื่น ๆ : ซ่อนชู้
ซ่อนกลิ่นเป็นพันธุ์ไม้ที่มีหัวอยู่ในดิน ใบสีเขียวสดเรียวยาวมีหน่อออกกลายเป็นหัว เป็นไม้ตัดดอกที่ใช้กันมากในทางศาสนา เพราะมีสีขาวบริสุทธิ์ และกลิ่นหอมเย็น ไม่นิยมนำมาจัดแจกันดอกไม้ นอกจากใช้บูชาพระ ใช้ใส่แจกันหน้าแท่นบูชาศพ ซ่อนกลิ่นขึ้นได้ดีในดินร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี มีอินทรียวัตถุมาก ถ้าดินเหนียวแข็ง หรือดินน้ำท่วม ต้นจะแคระแกรนไม่แตกกอ ใบเล็กผอมยาว ช่อดอกเล็กผอมสั้น การขยายพันธุ์ ใช้วิธีแยกหัวปลูก

ดอกกุหลาบมอญ

ดอกกุหลาบมอญ
ดอกเกลื่อนดกกลาดหนักหนา
กาหลงกุหลาบกระดังงา
การะเกดกรรณิการ์ลำดวน…"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Rosa damascema, Mill.
ชื่อสามัญ : Damask Rose, Persia Rose, Mon Rose
ชื่อวงศ์ : Rosaceae
กุหลาบมอญเป็นไม้ดอกประเภทไม้พุ่มผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านมีหนาม พุ่มสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร อายุยืน แข็งแรง เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อยวันละ ๖ ชั่วโมง จึงควรปลูกในที่โล่งแจ้งแต่ควรเป็นที่อับลม ขึ้นได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์พอ ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขัง ดินจึงต้องระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศร้อนในตอนกลางวัน และอากาศเย็นในตอนกลางคืน กุหลาบมอญนี้ถือได้ว่าเป็นกุหลาบพื้นเมืองของไทย ใบเป็นใบประกอบชนิดขนนก มีหูใบ ๑ คู่ มีใบย่อย ๓ - ๕ ใบ ในก้านช่อใบหนึ่ง ๆ ใบจัดเรียงแบบสลับ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน มีรอยย่นเล็กน้อย ขอบใบเป็นจักละเอียด เส้นกลางใบด้านท้องใบมีหนามห่าง ๆ ดอกมีลักษณะค่อนข้างกลม กลับดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้น วนออกนอกเป็นรัศมีโดยรอบ ดอกมีสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม ดอกมักออกเป็นช่อ ทางปลายกิ่ง กลีบดอกมีลักษณะปลายแหลมเรียว การขยายพันธ์ใช้วิธีตอนกิ่ง

ดอกตะแบก

ดอกตะแบก
ช่อตะแบกชาตบุษย์ชูก้าน
พิกุลพวกแก้วเป็นแถวบาน
พุดตาลพันแต้วตำปี…"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Lagerstroemia frosreginae, Retz.
ชื่อสามัญ : Queen's Flower
ชื่อวงศ์ : Lythraceae
ชื่ออื่น ๆ : กระแบก
ตะแบกเป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดกลางถึงใหญ่ ชอบขึ้นอยู่ทั่วไปตามป่าราบ เป็นไม้กลางแจ้งออกดอกปีละครั้ง ลำต้นมีเปลือกเรียบสีขาวเป็นมัน เมื่อแก่ผิวร่อนคล้ายต้นฝรั่ง ลำต้นสูง แตกกิ่งก้านด้านบน ใบโต ปลายใบแหลมคล้ายใบลั่นทม เมื่อออกดอกจะทิ้งใบ ดอกสีชมพูอมม่วง บางพันธุ์ดอกสีขาว เวลาดอกบานจะดูสะพรั่งสวยงามมาก เมื่อดอกโรยจะติดผลเป็นช่อ ลูกคล้ายหมากดิบ การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด

ดอกกระทกรก

ดอกกระทกรก
กระทกรกกระลำพอสมอไข่
ผักหวานตาลดำลำใย
มะเฟืองไฟไข่เน่าสะเดานา…"
วรรณคดี : "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขุนแผนลุแก่โทษ
ผู้ประพันธ์ : สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Passiflora foetida, L.
ชื่อสามัญ : Stinking - Passion Flower.
ชื่อวงศ์ : Passifloraceae
ชื่ออื่น ๆ : หญ้ารกช้าง กระโปรงทอง เถาสิงโต
กระทกรกเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อย เถาเล็กสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว แยกเป็น ๓ แฉกคล้ายใบตำลึง ยาวประมาณ ๖ - ๗ ซ.ม. แผ่นใบมีขนละเอียดปกคลุมจับนุ่มมือออกเป็นข้อ ๆ ละใบสลับข้างกัน ก้านใบมีขนเห็นได้ชัด หูใบมีลักษณะเป็นแผ่น ปลายจักแหลม ๆ ขนาบอยู่ที่ฐานก้านใบ ระหว่างฐานใบกับลำต้นมีมือเกาะลักษณะเป็นเส้นม้วนงอ สำหรับเกาะให้เลื้อยขึ้นไปตามรั้วหรือต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒ - ๓ เซนติเมตร มีกาบใบเป็นฝอยร่างแห ๓ กาบ กลีบเป็นเส้นฝอยละเอียดสีขาว วงในเป็นสีม่วง บอกในช่วงเช้าดอกออกตามซอกระหว่างก้านใบกับลำต้น เมื่อดอกโรยจะติดผล ผลมีลักษณะกลมเป็นพู มีกาบใบเจริญเติบโตตามผลหุ้มผลไว้ผลหนึ่ง ๆ มีหลายเมล็ด ออกดอกตลอดปี ผลรับประทานเล่นได้การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดปลูก

จำปา
            "เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ อันขจรด้วยกลิ่นบุปผา รื่นเร้าเสาวรสสุคนธา มาลัยโอฬาร์ผกากาญจน์แก้วกุหลาบจำปาสารภิน จรุงรวยชวยกลิ่นหอมหวาน กลั้วกลิ่นวนิดายุพาพาล ระเหยหานเสียวซ่านสำราญใจ"
วรรณคดี : บทละคร เรื่อง "อุณรุท" ตอนอภิเษกทศมุขครองกรุงรัตนา
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Michelia champaca
ชื่อสามัญ : Champaka
ชื่อวงศ์ : Magnoliaceae
จำปาเป็นพุ่มไม้ขนาดกลาง ดอกสีเหลืองอมส้ม เรียกว่าสีจำปา ดอกจำปาใหญ่กว่าจำปี แต่ต้นจำปาไม่ทนน้ำเท่าจำปี ไม่ควรปลูกในที่ลุ่มมีน้ำขัง ไทยมีจำปาอีกชนิดหนึ่ง เรียก จำปาขาว เชื่อว่าพ่อขุนบางกลางหาวปลูกไว้ที่วัดในอำเภอนครไทย พิษณุโลก ปัจจุบัน (๒๕๓๙) ยังยืนต้นอยู่ มีขนาดโอบไม่รอบ แต่เป็นโพรงเพราะอายุมากการขยายพันธุ์ ใช้กิ่งตอนหรือไหล คุณค่าทางสมุนไพร คือดอกใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ ระงับอาการเกร็ง รากเป็นยาถ่าย และขับระดูสตรี เปลือกแก้ไข้ ขับปัสสาวะ ใบใช้คั้นน้ำแก้โรคลำไส้อักเสบ

ดอกการเวก
"…สามกษัตริย์เที่ยวชมบุปผชาติ ดอกดกเดียรดาษในสวนขวัญ เกดแก้วพิกุลแกมพิกัน จวงจันทร์ลำดวนกระดังงา…"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Artabotrys siamensis
ชื่อสามัญ : Artabotrys
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
ชื่ออื่น ๆ : กระดังงาเถา กระดังงัว
การเวกเป็นไม้เถาขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อไม้แข็ง มักพบตามป่าชื้นทั่ว ๆ ไปนิยมปลูกให้เลื้อยเป็นไม้ซุ้มตามเรือนต้นไม้ หรือซุ้มประตู ใบร่มทึบ อายุยืนมาก ออกดอกตลอดปี ขึ้นได้ดีในทุกที่ทุกแห่งที่มีความชื้นพอสมควร ชอบอยู่กลางแจ้ง ลำต้นอาจมีขนาดโคนต้นใหญ่ ๘ - ๑๒ นิ้ว ลำต้นมีผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทาอมดำหรือน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นเขียวเพราะมีต้นน้ำมันกระจายอยู่ ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวจัด เป็นมัน รูปมนรี ปลายแหลม ยาวประมาณ ๖ - ๗ นิ้ว แต่กว้างกว่ากระดังงา ดอกอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นขาว เหลืองอ่อน จนแก่จัดมีสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมรุนแรงและส่งกลิ่นไปได้ไกลดอกเป็นกลีบเรียวยาวแยกจากกัน ๖ กลีบ ดอกใหญ่กว่าและกลีบดอกหนากว่ากระดังงา เมื่อดอกแก่จะร่วงเป็นผล ผลมีลักษณะกลมรี เป็นพวง สีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม เมื่อผลแก่จัดภายในผลแก่มีเมล็ดสีดำเป็นเมือก ๆ การขยายพันธุ์ นิยมใช้กิ่งตอน เพราะโตเร็วกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ดอกกระดังงา

ดอกกระดังงา
พระสี่กรชมพรรณพฤกษา
ประดู่ดอกดก ดาษดา
กระดังงาจำปาแกมกัน…"
วรรณคดี : "รามเกียรติ์"
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Cananga odorata,Hook. F.&Th.
ชื่อสามัญ : Ilang - ilang, Perfume Tree
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
กระดังงาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ออกดอกตลอดปี ชอบอยู่กลางแจ้ง โคนต้นมีปุ่มบ้าง มีกิ่งก้านห้อยย้อย เปลือกมีผิวค่อนข้างเรียบ สีเทาปนดำหรือน้ำตาล เปลือกลอกเป็นชั้น ๆ ได้ มีกลิ่นเหม็นเขียว เพราะมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว ขึ้นเรียงสลับกันไปตามกิ่ง ใบมนรี ปลายแหลมโคนใบมน ริมใบเรียบเกลี้ยง ยาวประมาณ ๖ - ๗ นิ้ว ดอกมีสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง โคนก้านใบ กลีบดอกเรียวยาวประมาณ ๔ นิ้ว กลีบบิด ดอกหนึ่งมีกลีบ ๖ กลีบ เรียงกันเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกใหญ่และยาวกว่ากลีบชั้นใน ก้ามเกสรตัวผู้สั้นมาก เมื่อดอกโรยจะติดผล ดอกกระดังงาใช้อบทำน้ำเชื่อม หรือใช้ปรุงขนมหวาน การขยายพันธุ์ใช้วิธีเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

ดอกบุนนาค

ดอกบุนนาค
“….พิกุลบุนนาคมากมี      ตามทางหว่างวิถีสีขาวสด       ชมพลางทางเร่งรีบรถ           เลียบตามบรรพตคีรี…”
       วรรณคดี : อิเหนา”  ตอนท้าวปันจะรากันไปในพิธีอภิเษกสังคามาระตา            ผู้ประพันธ์ :  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ชื่อพฤกษศาสตร์
  :  Mesua  ferrea, L.

                            ชื่อสามัญ          :  Indian  Rose  Dhestnut, Iron  Weed
ชื่อวงศ์
             :  Guttiferae
 ชื่ออื่น ๆ            :  นาคบุตร
บุนนาคเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่  ทรงพุ่มยอดแหลม  ออกดอกในฤดูหนาว  ใบเป็นใบเดี่ยว  ออกสลับทิศทางกัน  มีลักษณะเป็นกระจุกใหญ่ตรงกลาง  บางต้นกลีบดอกออกสีชมพูเรื่อ ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาด ๕ - ๗.๕ เซนติเมตร  หลังจากดอกโรยจะติดเมล็ดการขยายพันธุ์  นิยมใช้วิธีตอนกิ่ง  หรือเพาะเมล็ดคุณค่าทางสมุนไพร  ใช้เกสรผสมยาหอมบำรุงหัวใจ  แก้ร้อนในกระหายน้ำ  แก้วิงเวียนเป็นยาชู้กำลัง ฯลฯ

ดอกกรรณิการ์

ดอกกรรณิการ์
กรรณิการ์  ก้านสีแดงสด
คิดผ้าแสดติดขลิบนาง
 เห็นเนื้อเรื่อโรงราง
     ห่มสองบ่าอ่าโนเน่…”
         วรรณคดี :  กาพย์ห่อโคลง  นิราศธารโศก
            ผู้ประพันธ์ :  เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ชื่อพฤกษศาสตร์    :  Nyctanthes arbor – tristis
                ชื่อสามัญ            :  Night Jasmine
              ชื่อวงศ์               :  Verbenaceae

        กรรณิการ์เป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก  สูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร  ใบสากคาย  ขอบใบเป็นจักตื้นๆ และใบออกทิศทางตรงข้ามกันดอกสีขาว  ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง  ลักษณะคล้ายดอกมะลิ  แต่มีขนาดกลีบแคบกว่า  ปลายกลีบมี ๒ แฉก  ขนาดไม่เท่ากัน  โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้มสด  ดอกบานส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน  และจะร่วงในเช้าวันรุ่งขึ้นผลมีลักษณะกลมแบน  ขณะอ่อนมีสีเขียว  เมื่อแก่เป็นสีดำการขยายพันธุ์  ใช้ตอนกิ่ง
ทางด้านสมุนไพร  เปลือกให้น้ำฝาด  เปลือกชั้นในเมื่อผสมกับปูนขาวจะให้สีแดง  ดอกมีน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้  เช่นเดียวกับมะลิ  ส่วนของดอกที่เป็นหลอด  สกัดเป็นสีย้อมผ้าไหม  ใบใช้แก้ไข้และโรคปวดตามข้อ  น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาระบาย  และเป็นยาขมเจริญอาหาร

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความหมายของดอกไม้ในวรรณคดี


  หมายถึงดอกไม้ที่บรรดากวีไทยท่านได้พรรณาไว้เป็นบทร้อยกรองอย่างไพเราะใน หนังสือวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์  อิเหนา เงาะป่า ดาหลัง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี บทเห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศทองแดง นิราสหริภุญชัย นิราศพระประธม นิราศสุพรรณ นิราศเมืองแกลง นิราศภูเขาทอง นิราศอิเหนา นิราศเจ้าฟ้าลิลิตพระลอ และลิลิตตะเลงพ่าย